วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เคล็ดลับชลอความแก่-อายุยืน ตอนที่ 1

คำตอบคือกินสายกลาง
กินสายกลางคือกินมื้อเช้าและมื้อเที่ยง งดมื้อเย็น
เปรียบตัวเราเป็นรถยนต์ ตื่นเช้ามาต้องเติมน้ำมันก่อน หรือกินมื้อเช้า รถจึงจะวิ่งได้ ถึงเที่ยงน้ำมันยังไม่หมด เติมอีกครั้ง ถึงเย็นก่อนนอนก็ยังไม่หมดพิสูจน์ได้ดังนี้ สมมุติกินไข่ลวก 1 ฟองโตๆ มีไข่แดงหนัก 50 กรัม ในไข่แดงมีคลอเลสเตอรอล 1 กรัม ให้พลังงาน 9 แคลอรี่ ฉะนั้น 50 กรัม ให้พลังงาน 450 แคลอรี่ จะต้องออกกำลังกายเพื่อใช้พลังงานนี้ โดยขี่จักรยานตั้งแรงต้านไว้ 1.3 ก . ก . ความเร็วที่ปั่นบันไดจักรยาน 60 รอบต่อนาที ขี่อยู่นาน 60 นาที จะเหนื่อยหอบ เหงื่อไหลท่วมตัว แต่ใช้พลังงานไปเพียง 300 แคลอรี่ ไข่ใบเดียวใช้ไม่หมด ฉะนั้นถ้า กินมื้อเช้า มื้อเที่ยง จนถึงเย็น พลังงานยังเหลือแน่นอน ไม่จำเป็นต้องไปเติมอีก เพราะเวลานอนร่างกายจะนำพลังงานที่เหลือใช้ไปเก็บในที่ต่างๆ โดยตับเป็นผู้ทำงานนี้ ถ้าพลังงานเหลือมาก การเอาไปเก็บในที่ต่างๆก็มาก ทำให้อ้วน และแน่นอนถ้าเก็บไม่หมดโดยเฉพาะพวกไขมันตัวโตๆ จะต้องค้างอยู่ในหลอดเลือด ถ้าค้างสะสมมากเท่าใด รูหลอดเลือดก็จะเล็กลงทุกวัน เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง อวัยวะทั้งหลายก็จะเสื่อมสภาพเร็วขึ้นหรือแก่เร็วขึ้น ถ้าวันไหนอุดตัน เช่นถ้าตันที่สมอง จะกลายเป็นคนพิการอัมพาตครึ่งซีก ถ้าอุดตันที่ไต ต้องล้างไต เปลี่ยนไต ถ้าตันที่ขา อาจต้องตัดขาทิ้ง ถ้าตันที่กล้ามเนื้อหัวใจ ก็จะไม่มีโอกาสได้สั่งลาใคร ฉะนั้น การกินมื้อเย็นจึงเป็นมื้อที่เร่งกระบวนการเสื่อมถึงเสียชีวิตให้เร็วขึ้นไปอีก มื้อเย็นจึงเป็นมื้ออันตราย เป็นมื้อตายผ่อนส่ง ยิ่งกินมื้อเย็นมาก ยิ่งผ่อนส่งมาก ตายเร็ว ถ้าไม่กินมื้อเย็น ก็จะแก่ช้า เสื่อมช้า อายุยืน การไม่กินอาหารมื้อเย็นเป็นเรื่องที่ต้องเอาชนะใจตัวเองอย่างมาก ถ้าใครทำได้จะตัดทั้งกิเลส สุขภาพดี อายุยืน และมีสมาธิดี ความมุ่งมั่นสูง ได้ประโยชน์ทั้งกายและใจ แต่ท่าน ต้องฝึกกระเพาะให้เกิดความเคยชิน
วิธีฝึกมี 4 วิธี
1. ค่อยๆลดปริมาณอาหารมื้อเย็น ทีละน้อยๆเช่นลดกินข้าวจาก 2 จาน เหลือ 1 1/2 จาน สัก 3-4 เดือน โดยมีข้อแม้ว่า หลังอาหารเย็นแล้วห้ามกินอาหารใดๆทั้งนั้นยกเว้นน้ำเปล่า พอกระเพาะชินแล้วลดเหลือ 1 จาน ต่อไปครึ่งจาน ต่อไปไม่กินข้าวเลยกินแต่กับ ต่อไปกินผักผลไม้ สุดท้ายงดอาหารเย็น
2. ร่นเวลากินอาหารเย็น เช่นจาก 2 ทุ่มมากิน 1 ทุ่ม ต่อไปเลื่อนเป็น 6 โมงเย็น 5 โมงเย็น 4 โมงเย็น 3 โมงเย็น ฯ
3. กินเม็ดแมงลักแทนมื้อเย็น ใช้เม็ดแมงลัก 2 ช้อนโต๊ะใส่ในถ้วยน้ำแกงหรือน้ำเปล่าคนแล้วดื่มทันที ดื่มน้ำตามอีก 4-5 แก้ว
4. กินมังสะวิรัตมื้อเย็น การกินผักผลไม้ถือว่าเป็นอาหารไม่มีพิษ ร่างกายจะได้พักไม่ต้องทำลายพิษของอาหารเนื้อสัตว์ พิษที่สะสมไว้ก่อนก็จะถูกตับ ไต กำจัดหมดไปเองได้ ร่างกายมีเวลาถึง 18 ช.ม. กำจัดพิษที่ติดมากับมื้อเช้า มื้อเที่ยงได้ทัน ฉะนั้นการไม่กินอาหารเย็นจึงเป็นเวลาที่ตับ ไต จะสามารถกำจัดสารพิษจากอาหารมื้อเช้าและเที่ยงได้หมด ร่างกายจึงบริสุทธิ์ทุกวัน ท่านทราบแล้วใช่ใหมว่า ทำไมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติให้พระฉันเพียง 2 มื้อ คือ เช้า กับ เพล

2. โรค Attention Deficit Trait โดย ผศ . ดร . พสุ เดชะรินทร์ mailto:pasu@acc.chula.ac.thท่านผู้อ่านเป็นผู้หนึ่งที่ชอบทำงานในลักษณะของ Multitasking หรือไม่ครับ ? คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่สามารถหรือชอบที่จะทำงานหลาย ๆ อย่างไปในขณะเดียวกัน เช่นในขณะที่กำลังเช็คอีเมลทางคอมพิวเตอร์ ก็กำลังคุยโทรศัพท์สั่งงานกับลูกน้อง พร้อมทั้งดื่มกาแฟไปพร้อมกัน หรือในขณะที่กำลังนั่งประชุม ก็สั่งงานพร้อมทั้งหาข้อมูล และตัดสินใจผ่านทางเครื่องโน้ตบุ๊คที่ตั้งอยู่ข้างหน้า ในอดีตผมก็เคยชื่นชมคนพวกนี้นะครับว่า มีความสามารถมาก สามารถทำงานได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ออกมาเยอะ และดูยังสงบไม่ตื่นเต้นโวยวายเท่าใด แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับ ว่า การทำงานในลักษณะ Multitasking นั้น กลับเป็นสาเหตุประการหนึ่งของโรคร้ายใหม่ในที่ทำงาน ที่เราเรียก Attention Deficit Trait หรือ ADT โรคนี้เป็นโรคที่เราจะเจอมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมที่บังคับให้คนทำงานจะต้องทำงานด้วยความรวดเร็วมากขึ้น ทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน จะต้องตื่นตัวตลอดเวลา ไม่มีเวลาหรือโอกาสได้สงบพัก อ่านแล้วลองพิจารณาตัวท่านเองหรือบุคคลรอบข้างนะครับว่า เป็นโรคนี้หรือไม่ ? ผมอ่านพบเจอโรคนี้จากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม 2548 ในบทความชื่อ Why Smart People Underperform เขียนโดย Edward M. Hallowell ซึ่งเป็นจิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคที่เกี่ยวกับสมองและสมาธิทั้งหลาย คุณหมอท่านนี้ทำการรักษาอาการ Attention Deficit Disorder หรือ ADD มากว่า 25 ปี และ โรค ADD นี้เราเริ่มรู้จักกันมากขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน เรามักจะเรียกโรคนี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ผู้เขียนบทความนี้เขาพบว่า ในช่วงหลังๆ เริ่มมี ผู้ใหญ่ เข้ามารับการรักษาในอาการที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้นกันมากขึ้น แต่เมื่อวินิจฉัยดูก็ไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น แต่เป็นโรคอีกชนิดหนึ่ง ที่มีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น คุณหมอท่านนี้ เลยตั้งชื่อใหม่ว่าเป็น Attention Deficit Trait หรือ ADT โดยสาเหตุของ ADT จะต่างจากโรคสมาธิสั้น เนื่องจากโรคสมาธิสั้นจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อม แต่ ADT นั้น จะมาจากสภาวะแวดล้อมเป็นหลัก ผู้ที่เป็นโรค ADT นั้น มักจะมีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งได้นานๆ ก็จะถูกดึงดูดด้วยงานอย่างอื่น มีความวุ่นวายอยู่ข้างใน ( แต่มักจะไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็น ) ไม่ค่อยอดทน มีปัญหาในการจัดระบบต่างๆ (Unorganized) การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา โรค ADT นี้ มักจะเริ่มก่อเกิดขึ้นเมื่อเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ การที่มีความรู้สึกว่ามีงานด่วน หรือสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องทำเข้ามาเรื่อยๆ และท่านพยายามที่จะจัดการกับงานด่วนเหล่านั้นให้สำเร็จ จะเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของโรค ADT เพราะเมื่อเรามีงานที่เร่งด่วน หรือจำเป็นเข้ามาเรื่อยๆ เราก็มักจะรับภาระความรับผิดชอบต่องานเหล่านั้น อีกทั้งไม่บ่นไม่โวยวายต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้น เราจะก้มหน้าก้มตาพยายามทำให้งานสำเร็จ ทั้งๆ ที่กำลังความสามารถ และเวลาของเราไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณของงานที่เข้ามา ดังนั้น เมื่อเจอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเร่งด่วนขึ้น เราก็มักจะอยู่ในอาการของความรีบร้อนตลอดเวลา พยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็ว การทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน และขาดสมาธิต่อการทำงานๆ หนึ่ง ( Unfocused) แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ก็จะไม่บ่นไม่โวยวาย ดูจากภายนอกแล้วเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทีนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยครับว่าโรค ADT จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น ? ง่ายๆ ก็คือ ทำให้สมองเราสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และทำงานอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะส่งผลให้งานที่ออกมาเป็นงานที่เร็วแต่ไม่ลึก จะทำให้ความสามารถในการทำงานของเราลดน้อยลง การที่สมองเราจะต้องรับ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก็ลดลง อีกทั้งความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้มากขึ้น โรคนี้ถือเป็นโรคใหม่ในที่ทำงานอย่างหนึ่งครับ เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ที่ต้องการความรวดเร็ว และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สมองเราจะต้องรับและประมวลผลข้อมูลต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม วัฒนธรรมในการทำงานในปัจจุบัน ก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกิดโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของความเร็วในการทำสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันดูเหมือนว่าเราต้องการความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ ( เรามักจะคิดว่าในเมื่อคนทุกคนมีเวลาเท่ากัน ดังนั้น ผู้ที่มีความเร็วมากกว่าจะทำงานได้มากกว่า ) ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับเวลาท่านขึ้นลิฟต์ ปุ่มไหนที่ท่านจะกดบ่อยที่สุด ปุ่มนั้นก็คือปุ่ม ' ปิดประตู ' เนื่องเพราะทุกคนเป็นทาสของความเร็ว ไม่สามารถรอให้ลิฟต์ปิดได้เอง *** ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเป็นโรค ADT กันบ้างไหมครับ ผมลองสังเกตตัวเองก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนกันครับ ทั้งสาเหตุและอาการก็เหมือนกับที่คุณหมอเขาเขียนไว้ในบทความของเขาเลยครับ เพียงแต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจนะครับ ถ้ารู้สึกว่าตนเองเป็น ADT เนื่องจากคนแต่ละคนจะมีวิธีการในการบริหารและจัดการกับโรค ADT ที่ต่างกัน ( เนื่องจากสมองของคนแต่ละคนต่างกัน ) ***